วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาและไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ (เกษม, 2540) จากคำจำกัดความดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา แต่ คำว่า "ตัวเรา" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวมนุษย์เราเท่านั้น โดยความเป็นจริงแล้ว ตัวเรานั้นเป็นอะไรก็ได้ที่ต้องการศึกษา/รู้ เช่น ตัวเราอาจจะเป็นดิน ถ้ากล่าวถึงสิ่งแวดล้อมดิน หรืออาจจะเป็นน้ำ ถ้ากล่าวถึงสิ่งแวดล้อมน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีข้อสงสัยว่า สิ่งที่อยู่รอบตัวเรามีรัศมีจำกัดมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าสิ่งต่างที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ไม่ได้มีขอบเขตจำกัด มันอาจอยู่ใกล้หรือไกลตัวเราก็ได้ จะมีบทบาทหรือมีส่วนได้ส่วนเสียต่อตัวเราอย่างไรนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและพฤติกรรมของสิ่งนั้นๆ เช่น โศกนาฏกรรมตึกเวิร์ดเทรด ซึ่งตัวมันอยู่ถึงสหรัฐอเมริกา แต่มีผลถึงประเทศไทยได้ในเรื่องของเศรษกิจ เป็นต้น

ประเภทของสิ่งแวดล้อม

จากความหมายของสิ่งแวดล้อมดังกล่าวสามารถแบ่งสิ่งแวดล้อมได้เป็น 2 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural environment) และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Mode Environment)

1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ( Natural Environment)
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต) และสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต

1. 1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) แบ่งได้ดังนี้

1.1.1 บรรยากาศ (Atmosphere) หมายถึงอากาศที่ห่อหุ้มโลก ประกอบด้วย กา๙ชนิดต่างๆ เช่น โอโซน ไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง และไอน้ำ

1.1.2 อุทกภาค (Hydrosphere) หมายถึงส่วนที่เป็นน้ำทั้งหมดของพื้นผิวโลก ได้แก่ มหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ ฯลฯ

1.1.3 ธรณีภาค หรือ เปลือกโลก(Lithosphere) หมายถึง ส่วนของโลกที่เป็นของแข็งห่อหุ้มอยู่รอบนอกสุด ของโลกประกอบด้วยหินและดิน

.2 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic Environment) ได้แก่ พืช สัตว์ และมนุษย์

2 . สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น(Man-Mode Environment)
แบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้

2.1 สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม (Concrete Environment) ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน โรงงาน วัด

2.2 สิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม (Abstract Environment)ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา กฎหมายระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น

ปัญหาของทรัพยากรน้ำ

ปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้น คือ
1. ปัญหาการมีน้ำน้อยเกินไป เกิดการขาดแคลนอันเป็นผลเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยลง เกิดความแห้งแล้งเสียหายต่อพืชเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์
2. ปัญหาการมีน้ำมากเกินไป เป็นผลมาจากการตัดไม้มากเกินไป ทำให้เกิดน้ำท่วมไหลบ่าในฤดูฝน สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
3. ปัญหาน้ำเสีย เป็นปัญหาใหม่ในปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเสีย ได้แก่
น้ำทิ้งจากบ้านเรือน ขยะมูลฝอยและสิ่งปฎิกูลที่ถูกทิ้งสู่แม่น้ำลำคลอง
น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
น้ำฝนพัดพาเอาสารพิษที่ตกค้างจากแหล่งเกษตรกรรมลงสู่แม่น้ำลำคลอง
น้ำเสียที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลเสียหายทั้งต่อสุขภาพอนามัย เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และมนุษย์ ส่งกลิ่นเหม็น รบกวน ทำให้ไม่สามารถนำแหล่งน้ำนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม

การอนุรักษ์น้ำ

ดังได้กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า น้ำมีความสำคัญและมีประโยชน์มหาศาล เราจึงควรช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสียหรือการสูญเสียทรัพยากรน้ำด้วยการอนุรักษ์น้ำ ดังนี้
1. การใช้น้ำอย่างประหยัด การใช้น้ำอย่างประหยัดนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำลงได้แล้ว ยังทำให้ปริมาณน้ำเสียที่จะทิ้งลงแหล่งน้ำมีปริมาณน้อย และป้องกันการขาดแคลนน้ำได้ด้วย
2. การสงวนน้ำไว้ใช้ ในบางฤดูหรือในสภาวะที่มีน้ำมากเหลือใช้ควรมีการเก็บน้ำไว้ใช้ เช่น การทำบ่อเก็บน้ำ การสร้างโอ่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ และระบบชลประทาน
3. การพัฒนาแหล่งน้ำ ในบางพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ จำเป็นที่จะต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถมีน้ำไว้ใช้ ทั้งในครัวเรือนและในการเกษตรได้อย่างพอเพียง ปัจจุบันการนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้กำลังแพร่หลายมากขึ้นแต่อาจมีปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุด
4. การป้องกันน้ำเสีย การไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฎิกูลและสารพิษลงในแหล่งน้ำ น้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ควรมีการบำบัดและขจัดสารพิษก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ
5. การนำน้ำเสียกลับไปใช้ น้ำที่ไม่สามารถใช้ได้ในกิจการอย่างหนึ่งอาจใช้ได้ในอีกกิจการหนึ่ง เช่น น้ำทิ้งจากการล้างภาชนะอาหาร สามารถนำไปรดต้นไม้ได้

ความหมายของระบบนิเวศ

ระบบนิเวศ (Ecosystem) เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ กับบริเวณแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่
ระบบนิเวศนั้นเป็นแนวคิด (concept) ที่นักนิเวศวิทยาได้นำมาใช้ในการมองโลกส่วนย่อย ๆ ของโลกเพื่อที่จะได้เข้าใจความเป็นไปบนโลกนี้ได้ดีขึ้น
ระบบนิเวศหนึ่ง ๆ นั้น ประกอบด้วยบริเวณที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ และกลุ่มประชากรที่มีชีวิตอยู่ในบริเวณดังกล่าว พืชและโดยเฉพาะสัตว์ต่าง ๆ ก็ต้องการบริเวณที่อยู่อาศัยที่มีขนาดอย่างน้อยที่สุดที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อว่าการมีชีวิตอยู่รอดตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น สระน้ำแห่งหนึ่งเราจะพบสัตว์และพืชนานาชนิด ซึ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริเวณน้ำที่มันอาศัยอยู่โดยมีจำนวนแตกต่างกันไปตามแต่ชนิด สระน้ำนั้นดูเหมือนว่าจะแยกจากบริเวณแวดล้อมอื่น ๆ ด้วยขอบสระ แต่ตามความเป็นจริงแล้วปริมาณน้ำในสระสามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยน้ำฝนที่ตกลงมา ในขณะเดียวกันกับที่ระดับผิวน้ำก็จะระเหยไปอยู่ตลอดเวลา น้ำที่ไหลเข้ามาเพิ่มก็จะพัดพาเอาแร่ธาตุและชิ้นส่วนต่าง ๆ ของพืชที่เน่าเปื่อยเข้ามาในสระตัวอ่อนของยุงและลูกกบตัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในสระน้ำ แต่จะไปเติบโตบนบก นกและแมลงซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกสระก็จะมาหาอาหารในสระน้ำ การไหลเข้าของสารและการสูญเสียสารเช่นนี้จึงทำให้สระน้ำเป็นระบบเปิดระบบหนึ่ง

รักษ์โลก ด้วยวิธีง่าย จากสองมือเรา
เรื่องราวเกี่ยวกับมลภาวะบนโลก ได้รับความสนใจจากหลากหลายฝ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งมีหลายหน่วยงานจัดตั้งเพื่อรณรงค์ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใส่ใจ ตระหนักและช่วยกันแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ทั้งเรื่องขยะล้นโลก น้ำเสีย สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงโลกร้อนที่กลายมาเป็นเรื่อง Talk of The Town กันในตอนนี้
เรามาดูกันว่า วิธีที่จะรักษาโลกใบนี้ให้หน้าอยู่ โดยการเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเรา ทำได้อย่างไร
ลดปริมาณขยะ
1. โดยการทิ้งขยะให้เป็นที่
2. นำถุงพลาสติกที่ยังไม่มีการปนเปื้อนที่ได้มาจากร้านค้ามาใช้ใหม่
3. ลดการใช้โฟม เพราะโฟมไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
ลดการใช้พลังงาน
4. ลดการใช้พลังงานน้ำมัน โดยสารรถประจำทาง หรือรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่
5. ลดการใช้ไฟฟ้า เปิดไฟเท่าที่จำเป็น ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ในออฟฟิสบางแห่ง ได้ปิดไฟในช่วงเวลาพักเที่ยง เพื่อประหยัดพลังงาน
6. ดูรายการโทรทัศน์รายการเดียวกันในครอบครัว วิธีนี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
7. อย่าทิ้งขยะลงในแม่น้ำ
8. พบเห็นโรงงานปล่อยของเสียลงในแม่น้ำ ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ให้ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการเอาผิดกับโรงงานนั้น ๆ ต่อไป
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า
9. อย่าซื้อ ขาย สัตว์ป่า
10. สอดส่องผู้ที่กระทำผิด และทารุณสัตว์ป่า
ยังมีอีกหลายวิธีการที่จะปกป้องโลกนี้ไว้ แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ มีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยโลกใบนี้ให้อยู่ตลอดชั่วลูกชั่วหลานอย่างไรบ้าง ?

รักษ์ชีวิตหยุดทำลายสิ่งแวดล้อม



มนุษย์หยุดทำลายสิ่งแวดล้อม


จากป่าเขียวขจีด้วยกิ่งใบ
มองดูไปสดชื่นรื่นหรรษา
ดูดซึมซับความร้อนผ่อนอุรา
พอน้ำมาซึมซับไว้ใต้ดิน


ละอองน้ำระเหยขึ้นปลายฟ้า
ตกลงมาเป็นเมฆฝนกระแสสินธุ์
เป็นมหาชลาลัยให้พื้นดิน
ทุกชีวินชุ่มน้ำฉ่ำร่มเย็น


เพราะมนุษย์ผู้ทำลายธรรมชาติ
ทำให้เกิดเรือนกระจกที่มองเห็น
พลังความร้อนแผ่มายากลำเค็ญ
เกิดทุกข์เข็ญใต้หล้าปฐพี


ขอมนุษย์จงหยุดทำลายป่า
ขอมนุษย์ใช้ชีวาที่สร้างศรี
ขอมนุษย์หยุดทำลายโลกใบนี้
เพื่อเป็นที่สืบสานรุ่นต่อไป

การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้กรมป่าไม้  กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ร่วมกับกรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  บูรณาการในการดำเนินงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าบนภูเขาที่สูงชัน และการออกเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  และเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์โดยเร็ว และสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าวจากงบประมาณกองทุนหมุนเวียนที่สามารถสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณปกติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า ปัจจุบันเกาะสมุยประสบปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต ได้แก่ ปัญหาปริมาณน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภท ปัญหาสวนมะพร้าวถูกแมลงดำหนามหรือด้วงทำลาย และปัญหาการบุกรุกพื้นที่ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว จึงส่งผลให้นักท่องเที่ยวและประชากรแฝงที่ย้ายเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการขยายของชุมชน การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะและน้ำเสีย แหล่งที่อยู่อาศัย  สถานที่พักของนักท่องเที่ยว และร้านค้าต่างๆ เกินกว่าศักยภาพของพื้นที่ที่จะรองรับได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตที่มีคนต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น รูปแบบการดำรงชีวิตแต่เดิมของชาวเกาะสมุยจึงเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับพื้นที่บนเกาะสมุย มีการใช้ที่ดินอย่างผิดประเภท มีการพัฒนาอย่างไม่ถูกทิศทางและไม่เหมาะสมมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้บนภูเขาที่สูงชัน และมีการออกเอกสารสิทธิที่ดินซ้อนทับในพื้นที่ป่าไม้ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะและน้ำเสีย ซึ่งมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
แนวทางแก้ไขปัญหา
1. เนื่องจากมีการบุกรุกพื้นที่ป่าบนภูเขาที่สูงชัน  และมีการออกเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  จึงต้องบูรณาการการดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
2. เร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้กลับฟื้นคืนสภาพที่สมบูรณ์โดยเร็ว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  และส่วนท้องถิ่นดำเนินการ